วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552

นิสิต นักศึกษากับการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพ
นิสิต นักศึกษาในฐานะผู้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินงานประกันคุณภาพของวิทยาลัย ควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านประกันคุณภาพของวิทยาลัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นักศึกษาจึงควรมีบทบาท ดังต่อไปนี้
1. บทบาทในการศึกษา ติดตาม รับรู้การดำเนินงานประกันคุณภาพของวิทยาลัย ทั้งในภาพรวม และในองค์ประกอบมาตรฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อนิสิต นักศึกษา โดยตรง ได้แก่ องค์ประกอบด้านการเรียน การสอน ด้านกิจกรรมพัฒนานิสิต นักศึกษา หรือด้านทำนุ บำรุง และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
2. บทบาทในการให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานประกันคุณภาพต่อวิทยาลัย ในส่วนที่นิสิต นักศึกษาพิจารณาแล้วว่า หากได้มีการกำหนดตัวบ่งชี้เพิ่มเติมในแต่ละเรื่องจะก่อให้เกิดประโยชน์ หรือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น
3. บทบาทในการให้ความร่วมมือ และให้ข้อมูลย้อนกลับ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินการดำเนินงานประกันคุณภาพ เพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานประกันคุณภาพของวิทยาลัย
4. บทบาทในการสะท้อนภาพการดำเนินงานของหน่วยงาน หรือการดำเนินบทบาทของคณาจารย์และบุคลากรต่อวิทยาลัยโดยตรง
5. บทบาทในการเผยแพร่ และเชิญชวน ให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านประกันคุณภาพของวิทยาลัย
6. บทบาทในการรวมกลุ่ม เพื่อจัดตั้งองค์กรนิสิต นักศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกันคุณภาพของวิทยาลัย เพื่อสร้างเครือข่ายในการร่วมติดตาม รับรู้การดำเนินงานประกันคุณภาพ สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานด้านประกันคุณภาพ มีความเข้มแข็ง และก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่นิสิต นักศึกษา
7. บทบาทในการกำหนดมาตรฐานกิจกรรมของนักศึกษาในวิทยาลัย การพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานและ การช่วยกันกำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพกิจกรรมนักศึกษาเอง เพื่อให้นักศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองในชีวิตวิทยาลัยได้เต็มตามศักยภาพ
การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง กิจกรรม หรือแนวปฏิบัติใด ๆ ที่หากดำเนินการตามระบบและแผนที่ได้วางไว้แล้ว จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ผลผลิตของการศึกษาที่มีคุณภาพตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์

ทำไมต้องมีการประกันคุณภาพการศึกษา
1. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
มาตรา 47 ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วยระบบการประกัน คุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก
มาตรา 48 ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษา จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่า การประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานด้านต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเพื่อรับรองการประกันคุณภาพภายนอก
มาตรา 49 ให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษามีฐานะเป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์วิธีการประเมินคุณภาพภายนอกและทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมายและหลักการและแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ
2. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน พ.ศ. 2543)

บทบาทนิสิต นักศึกษากับการประกันคุณภาพการศึกษา
1. มีทัศนคติที่ดีต่อการประกันคุณภาพการศึกษา
2. เข้าใจกระบวนการทำงานของสถานศึกษา ตามระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
3. มีความเข้าใจในระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
4. มีส่วนร่วมในระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เช่น เป็นผู้ให้ข้อมูล ผู้ร่วมเก็บข้อมูล เป็นคณะกรรมการ ร่วมวางแผนพัฒนาระบบ
5. เป็นผู้ร่วมประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน
6. นำความรู้จากระบบประกันคุณภาพการศึกษาไปบริหารจัดการความรู้ นำไปสู่การปฏิบัติการ (PDCA) ในการจัดทำโครงการ
7. สร้างเครือข่ายการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน และภายนอกสถาบัน